หลายคนอาจเคยสงสัย ว่าถ้าอยากเปิดร้านขายของออนไลน์ซักร้านนึง จำเป็นต้องทำเว็บไซต์มั้ย
หรือบางคนที่กำลังเปิดร้านอยู่ ขายบน Facebook, Instagram, Line@, Lazada, Shopee ก็รู้สึกว่าขายดีอยู่แล้ว ทำไมต้องทำเว็บไซต์ด้วย
ทับทิมเลยหยิบเรื่องราวนี้มาเขียน จากประสบการณ์ตรงที่เคยเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ค่ะ
Blog นี้เริ่มจาก หลังๆ มานี้ทับทิมได้เห็นโพสต์หรือกระทู้ต่างๆ บ่อยมาก เกี่ยวกับปัญหาของแม่ค้าขายของออนไลน์
หนึ่งในนั้นคือ ช่องทางการขายที่เคยขายได้ ขายดีมาก มาตลอด โดนปิดโดยไร้เหตุผลค่ะ (หรืออาจจะมีเหตุผล แต่ก็โดนปิดไปเลย)
เช่น หนึ่งในกระทู้ Pantip นี้ค่ะ
ขายของออนไลน์ จากเมื่อก่อนส่งของทุกวัน ตอนนี้แทบไม่มี บางที2อาทิตย์ส่งออเดอร์เดียว ทำไงดี
จริงๆ กระทู้แนวนี้มีเยอะนะคะ รวมไปถึงโพสต์ใน Facebook ที่มีคนแชร์มาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
หากเข้าไปอ่านคอมเมนต์ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีแค่ 2-3 รายที่โดนปิด โดนตัดช่องทางการขายค่ะ มีเยอะมากที่โดน!
ทำธุรกิจผ่าน Facebook และ Instagram
คิดว่าทุกคนคงได้ลองใช้ดูแล้ว สองอย่างนี้เป็นแพลตฟอร์มฟรี และใช้งานง่ายมาก อยากเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างก็ทำได้เลย ไม่ต้องลงทุน ขอแค่มีรูปสวยๆ คอนเทนต์ปังๆ ก็พอแล้ว
แต่อย่าลืมนะคะว่า Facebook และ Instagram นั้น เจ้าของเดียวกันค่ะ นโยบายการหาเงินก็ไปในทางเดียวกัน
เมื่อก่อนเปิดให้คนใช้เป็นช่องทางขายของได้ฟรีๆ เพื่อให้คนเห็นว่ามันขายได้ และใช้งานง่ายมาก แต่เราต้องขยันปั่นโพสต์ อัพเดทตลอดเวลา ทำรูปให้สวยๆ และตอบคำถามลูกค้าอย่างรวดเร็ว
ตอนนี้เค้าก็เริ่มปรับกลยุทธ์ของเค้าใหม่ ปรับการมองเห็นโพสต์ของเราให้น้อยลง เพื่อให้เราหันมาพึ่งโฆษณามากขึ้น
แล้วก็ปรับกลยุทธ์การทำโฆษณาใหม่ ต้องเข้ากฎหลายๆ อย่างที่ตั้งไว้ โฆษณาถึงจะเห็นผล เข้ากลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น
หรืออาจจะแค่.. ทำให้เราเสียเงินมากขึ้นนั่นแหละ เสียเงินกับการลงโฆษณา หรือ เสียเงินเข้าคอร์สยิงโฆษณา
เพราะถ้าเราจะเอาดีทางนี้ ยังไงซะเราก็ต้องปรับตัวตามเค้า ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถูกมั้ยคะ
แต่ถ้าหากว่าเราทำร้านมานาน ฐานลูกค้าเยอะ ไม่จำเป็นต้องพึ่งโฆษณาก็ขายได้
อาจจะเกิดการ set zero หรือโดนปิดแอคเคาท์จากทางแพลตฟอร์มได้ค่ะ
ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เค้าทำได้หมด เพราะเค้าเป็นเจ้าของไงคะ
ความเสี่ยงสูงแบบนี้ เราควรหาวิธีหรือขายทางช่องทางการขายอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยนะคะ
Line@ ล่ะเป็นไง
จากที่เราเคยใช้ มันเป็นช่องทางการขายที่ดีในระดับนึง มันเหมาะกับการเป็นฐานรวมลูกค้าเก่าของเรา ข้อดีคือ ลูกค้ากลุ่มนี้รู้จักเรา เคยใช้และมั่นใจในสินค้าเราอยู่แล้ว แต่จะซื้อซ้ำมั้ย อีกเรื่องนึงค่ะ
และลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่ ก่อนซื้อจะ “เลือกเยอะ” มากๆ
“ขอดูสินค้าจริงหน่อยค่ะ ถ่ายด้านใน ด้านหลังให้หน่อยค่ะ สวมให้ดูหน่อยค่ะ มีแบบนี้สีอื่นมั้ยคะ” อะไรประมาณนี้
ซึ่งเราว่า Line@ มันเหมาะกับร้านที่มีของอยู่ในมือ สามารถถ่ายสดๆ ให้ลูกค้าดูได้เลย ไม่ต้องแคร์ว่ารูปสวยมั้ย
แต่เราก็ต้องทำงานกันหนักขึ้นค่ะ อาจจะต้องหาผู้ช่วยตอบไลน์ ผู้ช่วยคอนเฟิร์มสินค้า เพิ่มอีก
อีกอย่างนึง ทับทิมว่า Line@ เหมาะกับร้านที่มีหน้าร้านนะ
อย่างเราเข้าไปซื้อเสื้อผ้าร้านนึงในห้าง เราก็จะแอดไลน์ร้านนั้นไว้ด้วย เข้ากลุ่มร้านไปเลย
ร้านเค้าก็จะอัพเดทสินค้าในร้านให้ดูตลอด มีแอดมินคอยตอบคำถาม
ซึ่งถ้าเราชอบในคุณภาพของสินค้าร้านนี้ เราก็จะสั่งออนไลน์ไปเลย ไม่ต้องเสียค่าเดินทางอีก ประหยัดดีค่ะ
ส่วนข้อเสียคือ ฐานลูกค้าไม่กว้างพอ เพราะมีแค่ลูกค้าเก่าเท่านั้น การจะขยายฐานลูกค้าเพิ่ม เราต้องใช้แพลตฟอร์มอื่นอยู่ดี
และก็ใช่ว่าทุกคนจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเองถูกมะ หรือใช่ว่าทุกคนอยากจะสต็อกสินค้าเยอะๆ ใช่มั้ยคะ
มาทางฝั่ง Lazada และ Shopee กันบ้าง
สองแพลตฟอร์มนี้ทับทิมเป็นลูกค้าซื้อของออนไลน์อยู่ค่ะ ตอนที่เปิดใหม่ๆ บอกเลยว่าดี ชอบมาก ระบบก็ดี น่าเชื่อถือค่ะ
และเค้าเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าคนไทยได้มีช่องทางการขายมากขึ้น ส่วนใหญ่สั่งของวันนี้ พรุ่งนี้ก็ส่งของ 2-3 วันได้รับของ รวดเร็วทันใจดีค่ะ
แถมลูกค้าอย่างเรา พอโอนเงินแล้วก็ไม่ต้องส่งสลิปหลักฐานการโอนเงินให้ยุ่งยาก มีระบบติดตามพัสดุให้ด้วย
ยิ่ง Lazada นี่แทบจะ 1-2 วันได้รับของเลยค่ะ สะดวกรวดเร็วมากๆ
แต่ตอนนี้ลองเปิดเข้าไปดูในแอพ เจอแต่ร้านที่ทำดรอปชิป เอาของจากจีนมาขาย ซึ่งใช้เวลาในการส่งของ 2-3 สัปดาห์
ด้วยความที่ถ้าเราอยากได้ของจากจีน เราสั่งโดยตรงจากจีนได้เลยค่ะ ราคาถูกกว่า และรอของนานเท่ากัน
แต่เราใช้สองแอพนี้เพราะเราชอบที่เค้าส่งของเร็ว ตอนนี้หาร้านขายของที่อยากได้ที่ขายในไทยจริงๆ ยากมาก
ทำไมล่ะคะ.. เพราะว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้ เป็นของจีนยังไงล่ะ (อันนึงของจีน อันนึงถือหุ้นโดยบริษัทจีนเกือบครึ่ง)
เค้ามาเปิดตลาดให้คนไทยได้ลองใช้ หาฐานลูกค้า และวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของของคนไทย ว่าเราชอบอะไร ซื้ออะไรบ้าง แล้วเค้าก็กลับเอาของเค้ามาขายเอง ส่งตรงจากประเทศจีน ไม่ต้องเสียภาษีในไทยซักบาทไง (เรื่องภาษีนี่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลอย่างมาก พ่อค้าแม่ค้าคนไทยโดน แต่ต่างชาติไม่ต้องจ่ายจ้า)
และพฤติกรรมลูกค้าอย่างเราและหลายๆ คนน่าจะเหมือนกัน คือ ร้านไหนถูกกว่า ไปร้านนั้น
เพราะด้านล่างของสินค้าที่เราดูอยู่ มันจะแสดง “สินค้าที่คล้ายกัน” อยู่ ซึ่งเรียกว่า คล้ายมาก เหมือนมาก หรือเหมือนเอามาจากโรงงานเดียวกันเลย
แต่ราคาถูกกว่า 5-10 บาท บางทีก็ 20-30 บาท หรือลด 70% ไปเลย ก็ไปสิคะ จะซื้อแพงกว่าไปทำไม ใช่มะ
ก็เข้าใจนะว่าของพวกนี้ถ้าซื้อมาสต็อกเยอะ ก็จะมีต้นทุนถูกลง และขายได้ในราคาที่ถูกกว่า
เราก็แอบสงสัยเหมือนกันนะว่า ร้านที่โดนหั่นราคาแบบนี้ เค้าจะทำยังไงนะ
แล้วทำเว็บไซต์เองจะดีมั้ยนะ
ถ้าพึ่งเริ่มต้น หรือเงินทุนไม่เยอะมาก เว็บไซต์อาจจะเป็นการลงทุนที่สูงไปหน่อย และอาจจะเสียเวลาในการทำสิ่งที่ไม่ค่อยถนัดด้วย คำตอบคือ ยังไม่ต้องมีก็ได้ค่ะ ใช้แพลตฟอร์มตัวฟรี ตัวที่ใช้ง่ายไปก่อน แต่อย่าลืมคำนึงถึงค่าโฆษณาค่าการตลาดทั้งหลายด้วยนะคะ
ถ้ามองถึงอนาคต บอกเลยว่า มีเว็บไซต์ไว้ดีกว่าค่ะ มันเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ร้านอีกทางนึง สำหรับเรานะ หากร้านไหนที่เราเข้า Facebook page ของร้านไปแล้วเห็นลิงค์ Official website ร้านอีก เราจะเข้าไปดู และเราจะรู้สึกว่าร้านนี้ดูน่าเชื่อถือกว่ามากๆ
แต่ก็ติดตรงที่ว่า หากเราต้องการขายแค่ในประเทศไทย ลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชินกับการใช้เว็บไซต์ รู้สึกว่ามันยุ่งยากมากกว่า ในทางกลับกัน ถ้าเป็นลูกค้าต่างชาติจะนิยมซื้อผ่านเว็บ ผ่านระบบมากกว่า เพราะน่าเชื่อถือกว่านั่นเอง
อีกทั้งการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เราไม่ต้องกังวลว่าขายของอยู่ดีๆ โดนตัดยอดการมองเห็นโพสต์ ก็ต้องจ่ายค่าโฆษณามากขึ้น ขั้นตอนในการทำก็ยากขึ้นไปอีก หรือขายของอยู่ดีๆ โดนปิดแอคเคาท์ จะเริ่มใหม่ตอนนี้ก็ยากมากหากจะให้กลับมาปังและขายดีเหมือนเดิม
เว็บไซต์สามารถสร้างฐานข้อมูลสินค้าและลูกค้าไว้ได้ มันไม่หายไปไหน ไม่มีคนมาปิดเว็บไซต์เรา (ถ้าไม่ทำอะไรผิดกฎหมายนะ) และเรายังนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการตลาดได้อีกหลายช่องทาง (Multi-Channel Selling) สามารถลิงค์กับ Facebook Chat ให้ลูกค้าติดต่อเราได้ง่ายๆ ได้ด้วย หรือทำ SEO ให้ติดหน้าแรกบน Search Engine ที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Google หรือขายของให้กับลูกค้าทั่วโลกบน Google Shopping ก็ทำได้ จะเห็นได้ว่าเว็บไซต์สามารถขยายฐานลูกค้า รับลูกค้าได้จากทั่วทุกมุมโลกค่ะ
เราควรมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Facebook, Instagram หรือ Line เป็นเพียงช่องทางในการประชาสัมพันธ์และติดต่อกับลูกค้าค่ะ
สรุปง่ายๆ ก็คือ ควรศึกษาและหันมาทำธุรกิจแบบ Omni-Channel Personalization หรือการผสานช่องทางทั้งหมดของธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคผ่านทุกช่องทางการขายที่เป็นไปได้ ซึ่งตอนนี้กำลังมาแรงมากในโลกออนไลน์ค่ะ
ตอนนี้การทำเว็บไซต์ไม่ได้ยากมาก หากมีเวลาศึกษาและทำเอง ลงทุนไม่สูงมากค่ะ มี Theme สวยๆ ให้เลือกเยอะมาก แต่อย่างที่บอก หากไม่เคยทำ มันก็ต้องใช้เวลากันนิดนึง หรือสามารถใช้บริการสร้างเว็บไซต์จากผู้ให้บริการหลายๆ เจ้าได้ เป็นการประหยัดเวลาไป และได้เว็บสวยๆ กลับมาค่ะ
สอบถามคอร์สเรียน >> Click